ระบบประสาทมีหน้าที่ควบคุมและประสานการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมภายนอกรอบตัวแล้วสั่งการให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยรักษาสมดุลของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย และช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบประสาทแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามตำแหน่งในร่างกาย คือ
1. ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS)
ระบบประสาทส่วนกลางประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท สมอง และไขสันหลัง ระบบประสาทส่วนกลางจะอ่านสัญญาณจากเส้นประสาทต่าง ๆ และควบคุมกระบวนการคิด การเคลื่อนไหว และความรู้สึก
2. ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System: PNS)
ระบบประสาทส่วนปลายประกอบด้วยเซลล์ประสาทอื่น ๆ ทั่วร่างกายที่ไม่ได้อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง โดยระบบประสาทส่วนปลายจะถ่ายทอดข้อมูลจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า แขน ขา ซึ่งระบบประสาทส่วนปลายแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
- ระบบประสาทโซมาติก (Somatic Nervous System : SNS) ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อโครงร่างที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ
- ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System : ANS) ควบคุมควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ และระบบของอวัยวะภายในต่างๆ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ
ระบบประสาทอัตโนมัติ ซิมพาเทติกและพาราซิมพาเทติก
ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติหรืออัตโนวัติ (Autonomic Nervous System-ANS) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่าง ซึ่งทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ มีศูนย์กลางอยู่ที่ไขสันหลังระดับอกและเอว โดยเซลล์ประสาทในระบบนี้จะมีขนาดสั้น เรามักรู้จักระบบประสาทซิมพาเทติกในแง่ของการทำงานเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ หรือกำลังจะมีอันตรายเกิดขึ้น ระบบจะสั่งให้สู้หรือหนี โดยเมื่อระบบถูกกระตุ้น มันจะสั่งให้ต่อมหมวกไตชั้นใน (Adrenal Medulla) หลั่งฮอร์โมนออกมาเพื่อไปกระตุ้นกล้ามเนื้อหรือต่อมเป้าหมายให้ทำงานตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้น
ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System) เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติหรืออัตโนวัติ (Autonomic Nervous System-ANS) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่าง ซึ่งทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจเช่นเดียวกับระบบประสาทซิมพาเทติก
วิธีการดูแลระบบประสาทให้ทำงานเป็นปกติ
ระบบประสาทมีความสำคัญต่อร่างกายมาก จึงควรดูแลรักษาระบบประสาทและระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดปกติ โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณพอดี โดยเฉพาะอาหารไขมันต่ำ อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และโฟเลต ซึ่งอาจมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงระบบประสาท
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำที่เป็นสาเหตุทำให้รู้สึกสับสน มึนงง และอาจส่งผลต่อความจำได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพและโรคต่าง ๆ
- งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและสุขภาพโดยรวมในระยะยาว
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อหารูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง
- รักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง
- เข้ารับการตรวจวัดสายตาและการได้ยินหากมีอาการมองเห็นไม่ชัดหรือมีปัญหาในการได้ยินเสียง
- ป้องกันการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อศีรษะ เช่น สวมหมวกนิรภัยเมื่อขับรถจักรยานยนต์ และสวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อทำงานที่ต้องเสี่ยงอันตราย
- หลีกเลี่ยงการทำหลาย ๆ สิ่งในเวลาเดียวกัน แต่ควรจัดลำดับความสำคัญโดยเรียงสิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับต้น ๆ
- เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสมาธิและความสามารถในการจดจ่อตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ
- จดบันทึกช่วยจำ โดยเขียนสิ่งที่ต้องทำลงในสมุดบันทึกหรือปฏิทิน
- ฝึกคิดบวกหรือมองโลกในแง่ดี