“สมรสเท่าเทียม” เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ถูกพูดถึงและเป็นที่ถกเถียงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา #สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 บนโซเชียลมีเดียหลายครั้ง จนนำไปสู่การลงชื่อเรียกร้องให้มีการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สิทธิประโยชน์ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
เมื่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในไทย “สมรสเท่าเทียม” จะมีประโยชน์ในการมอบสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ทุกเพศ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังยอมรับการสมรสเฉพาะแค่เพศชาย-หญิง เท่านั้น แต่หากมีการผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้
สิทธิต่าง ๆ ที่มีผลบังคับใช้ทันทีที่มีการจดทะเบียนสมรสตามที่กฎหมายกำหนด สามารถสรุปสิทธิและหน้าที่สำคัญที่ “คู่สมรส” จะได้รับ ดังนี้
1.การหมั้น
การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว โดยการหมั้นถือเป็นการแสดงเจตจำนงต่อการสมรสในอนาคต และการหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น และเมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น
2.การสมรส
การสมรสจะกระทำได้เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนอายุที่กำหนดได้
3.การจดทะเบียนสมรส
การสมรสจะสมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อคู่สมรสทั้ง 2 ฝ่ายแสดงความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้อย่างเป็นทางการ
แต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้ ให้บุคคลทั้ง 2 แสดงเจตนาต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ เพื่อบันทึกเจตนาของทั้ง 2 ฝ่ายไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาภายใน 90 วัน นับจากวันที่สถานการณ์ฉุกเฉินคลี่คลายลง ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องไปจดทะเบียนสมรสอย่างเป็นทางการที่สำนักงานทะเบียน โดยนำหลักฐานการแสดงเจตนาเดิมไปยื่นด้วย และวันที่แสดงเจตนาต่อหน้าพยานจะถือเป็นวันจดทะเบียนสมรส และคู่สมรสยังมีสิทธิใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นชื่อกลางได้เมื่อได้รับความยินยอม
4.การจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติตามกฎหมายไทย
บุคคลที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ สามารถทำได้ภายในประเทศไทย คือ จดทะเบียนสมรสที่ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือทำในต่างประเทศ ณ สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ
5.การหย่า
เมื่อคู่สมรสตัดสินใจแยกทาง การหย่าจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนหย่าตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย ให้ทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด รวมถึงการทำสัญญาเรื่องการออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใดด้วย เมื่อบุคคลทั้ง 2 หย่ากันให้แบ่งสินสมรสแต่ละฝ่ายได้ส่วนเท่ากัน
6.การจัดการทรัพย์สิน-หนี้สินร่วมกัน
คู่สมรสมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินที่ได้มาร่วมกันระหว่างสมรส รวมถึงการดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สินเหล่านั้น และการร่วมกันบริหารหนี้สิน ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส และถ้าคู่สมรสเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น
7.สิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐ
คู่สมรสมีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐจัดสรรให้ เช่น การลดหย่อนภาษี สิทธิในประกันสังคม บำเหน็จ-บำนาญชราภาพ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในฐานะคู่สมรส
8.การให้ความยินยอมทางการแพทย์
ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล คู่สมรสอีกฝ่ายมีสิทธิในการให้ความยินยอมแทนได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเพื่อตัดสินใจรักษาพยาบาล จะต้องแจ้งให้ทายาทโดยธรรม ซึ่งคู่สมรสก็เป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายด้วย
9.การอุปการะเลี้ยงดู
คู่สมรสมีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากกันในกรณีที่ไม่ได้รับการดูแลตามสมควร เช่นเดียวกับสิทธิในการเรียกร้องค่าเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตร
10.การรับบุตรบุญธรรม
คู่สมรสมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยมีเงื่อนไขหลักคือ ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นการเปิดประตูสู่ความเท่าเทียมในชีวิตคู่ ช่วยให้คู่สมรสทุกเพศมีสิทธิเข้าถึงการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเสมอภาคกัน การออกกฎหมายนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางกฎหมาย แต่ยังเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมอย่างยั่งยืน